เนื้อเรื่อง ของ ทุ่งสังหาร (ภาพยนตร์)

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 สาธารณรัฐเขมรทำสงครามต่อต้านกลุ่มเขมรแดง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแทรกซึมตามเส้นทางโฮจิมินห์ของเวียดกงในสงครามเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล "ดิธ ปราน" ล่ามและนักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ชาวเขมร เดินทางมารอรับ "ซิดนีย์ ชานเบิร์ก" นักข่าวชาวอเมริกันจากหนังสือพิมพ์เดียวกัน ที่สนามบินโปเชนตงในกรุงพนมเปญ แต่ด้วยเที่ยวบินที่ล่าช้าไป 3 ชั่วโมงและเกิดเหตุด่วนขึ้น ปรานจึงรีบออกไปหาข่าวและไม่ได้อยู่รอรับชานเบิร์ก เมื่อชานเบิร์กเข้าพักที่โรงแรมในกรุงพนมเปญแล้ว ปรานจึงเข้ามาบอกข่าวกับชานเบิร์กว่า เครื่องบินบี-52 ของอเมริกาทิ้งระเบิดลงที่เมืองเนียะเลือง ในเขตอำเภอเพียมรอก์ จังหวัดไพรแวง ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นฐานที่มั่นของเขมรแดง ทั้งสองจึงไปทำข่าวในสถานที่เกิดเหตุ โดยลักลอบเดินทางไปด้วยเรือของตำรวจน้ำ ณ ที่นั้น ทั้งสองได้พบกับสภาพเมืองที่ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง และมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อทั้งสองจะถ่ายภาพประกอบข่าว ทหารของรัฐบาลได้ขัดขวางไม่ให้พวกเขาถ่ายภาพและจับกุมตัวไปสอบสวน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาไม่นานเมื่อกองทัพสหรัฐฯ นำเฮลิคอปเตอร์พานักข่าวมาทำข่าวตามที่ฝ่ายรัฐบาลและอเมริกาได้จัดฉากไว้เพื่อกลบเกลื่อนความจริงที่เนียะเลือง ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ชานเบิร์กรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของฝ่ายสหรัฐฯ อย่างยิ่ง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้

ในปี พ.ศ. 2518 กรุงพนมเปญใกล้จะเสียให้แก่ฝ่ายเขมรแดง รัฐบาลสหรัฐฯ จึงสั่งปิดสถานทูตและอพยพพลเมืองสหรัฐฯ ในกัมพูชา ชานเบิร์กได้ช่วยอพยพปรานและครอบครัวให้ไปอยู่ที่สหรัฐฯ แต่ตัวชานเบิร์กเองต้องการจะติดตามดูเหตุการณ์จนถึงที่สุด ปรานจึงตัดสินใจส่งเพียงครอบครัวของตนไปที่สหรัฐฯ และอยู่ช่วยชานเบิร์กทำข่าวที่พนมเปญต่อไป เมื่อกองทัพเขมรแดงบุกเข้ามาถึงกรุงพนมเปญ ทั้งชานเบิร์กและปรานก็ได้ไปทำข่าวการฉลองชัยชนะและสันติภาพของเขมรแดง พวกเขาได้พบกับ "อัล ร็อกออฟ" และ "จอน สเวน" เพื่อนนักข่าวชาวต่างประเทศ ซึ่งได้พาปรานกับชานเบิร์กไปดูอีกด้านหนึ่งของกรุงพนมเปญที่ยังคงปรากฏภาพของความรุนแรงจากฝ่ายเขมรแดงในวันนั้น ทั้งหมดได้ถูกทหารเขมรแดงจับกุมตัวไปยังสถานที่แห่งหนึ่งขณะกำลังสำรวจโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้บาดเจ็บจากสงคราม ปรานได้พยายามเจรจากับหัวหน้าทหารเขมรแดงอยู่นานหลายชั่วโมงเพื่อขอให้ปล่อยตัวนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนจนสำเร็จ

หลังจากถูกปล่อยตัวแล้ว ปรานและกลุ่มนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนกลับมาในกรุงพนมเปญอีกครั้ง ทั้งหมดเก็บข้าวของของตนเองออกมาจากโรงแรมเท่าที่จะทำได้ และเดินทางออกนอกเมืองตามคำสั่งของเขมรแดง ซึ่งสั่งให้ประชาชนทุกคนทิ้งเมืองและอพยพไปสู่ชนบท พวกเขาไปอยู่รวมกันที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงพนมเปญ อันเป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติทั้งหมดและชาวเขมรที่ต้องการลี้ภัยมาอยู่รวมกัน ทั้งหมดได้เป็นพยานในการพบเห็นบุคคลสำคัญของรัฐบาลเก่า เช่น สีสุวัตถิ์ สิริมตะ เป็นกลุ่มสุดท้ายก่อนที่จะถูกเขมรแดงจับตัวไป กลุ่มของชานเบิร์กพยายามหาทางช่วยให้ปรานสามารถอพยพออกจากกัมพูชาได้ โดยสเวนช่วยปลอมหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักร ส่วนชานเบิร์กกับร็อกออฟช่วยถ่ายรูปปรานสำหรับติดในหนังสือเดินทาง โดยใช้อุปกรณ์ทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากรูปถ่ายของปรานใช้การไม่ได้ ปรานจึงต้องอยู่ในกัมพูชาภายใต้การปกครองของเขมรแดงต่อไป

หลังจากชานเบิร์กออกมาจากกัมพูชาแล้ว เขาได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของปรานซึ่งอพยพจากกัมพูชามาก่อนหน้านั้นและพำนักอยู่ที่ซานฟรานซิสโก และพยายามขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมต่างๆ ทั่วโลกในการตามหาปราน ส่วนปรานได้กลายเป็นแรงงานเกณฑ์ภายใต้การปกครองของ"อังการ์" หรือรัฐบาลเขมรแดง ต้องใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นแสนสาหัส และต้องแกล้งทำตัวเป็นคนไม่รู้หนังสือ เพื่อเอาตัวรอดจากคำสั่งฆ่าผู้มีความรู้ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นศัตรูของรัฐบาลใหม่ เขาเกือบเสียชีวิตจากการลงโทษและถูกทรมานเพราะแอบดูดเลือดจากคอวัวกินเนื่องจากทนความอดอยากไม่ไหว โชคยังดีที่เขาได้รับการปล่อยตัว ปรานจึงพยายามลอบหนีออกจากค่ายกักกัน แต่ก็ถูกเขมรแดงจับตัวได้ที่หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งระหว่างทาง เขาได้พบกับหลุมศพของคนที่ตายจากการถูกเขมรแดงสังหารด้วยข้อหาทรยศชาติจำนวนมากด้วย

ที่สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2519 ชานเบิร์กได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากการทำข่าวสงครามกลางเมืองกัมพูชา เขาได้อุทิศรางวัลนี้ให้แก่ปรานด้วย ในงานเลี้ยงคืนนั้น ชานเบิร์กได้เจอกับร็อกออฟขณะเข้าห้องน้ำ เขาโทษว่าชานเบิร์กไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางช่วยเหลือปรานออกมาจากกัมพูชา คำพูดนี้ทำให้ชานเบิร์กโทษตัวเองว่า ปรานยังอยู่ในกัมพูชาก็เพราะเขาต้องการให้ปรานอยู่ที่นั่นด้วยความเห็นแก่ตัว

ที่กัมพูชา หลังจากปรานถูกจับกุมตัวอีกครั้ง เขาก็ได้ทำงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกชายของ "พัด" หัวหน้าเขมรแดงของหมู่บ้านที่ควบคุมตัวปรานไว้ พัดให้ความไว้วางใจแก่ปรานเต็มที่แม้จะรู้ว่าปรานมีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสก็ตาม เมื่อพัดเห็นว่าสถานการณ์ของรัฐบาลเขมรแดงเลวร้ายลงจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายในพรรคและการรุกรานของเวียดนาม เขาจึงฝากฝังลูกชายไว้ให้ปรานดูแลก่อนที่จะถูกทหารเขมรแดงดัวยกันสังหารในช่วงที่กองทัพเวียดนามใกล้จะรุกเข้ามาถึงหมู่บ้านของพัด ปรานได้พาลูกชายของพัดและนักโทษชายคนอื่นๆ อีก 4 คน หลบหนีออกจากกัมพูชาโดยมุ่งขึ้นไปทางชายแดนตอนเหนือ ระหว่างทางเพื่อนร่วมทางสามคนได้แยกกันไปอีกทางหนึ่ง ส่วนนักโทษที่เหลือกับลูกชายของพัดเสียชีวิตจากกับระเบิดที่ฝังไว้ในป่า ปรานจึงรอดชีวิตจนมาถึงศูนย์ผู้อพยพบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพียงคนเดียว

เมื่อชานเบิร์กรู้ข่าวว่าปรานยังมีชีวิตอยู่และปลอดภัยดี เขาจึงรีบแจ้งข่าวให้ครอบครัวของปรานรู้ และรีบเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบกับปรานที่ศูนย์ผู้อพยพ ทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 อันเป็นเวลา 4 ปีหลังจากการลาจากในเหตุการณ์พนมเปญแตกครั้งนั้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทุ่งสังหาร (ภาพยนตร์) http://allmovie.com/cg/avg.dll?p=avg&sql=1:27323 http://www.bangkokdvd.com/xdetails.asp?ID=17677 http://thailandonfilm.blogspot.com/2013/02/killing... http://www.book-ddshop.com/product/2397/the-killin... http://www.boxofficemojo.com/movies/?id=killingfie... http://www.imdb.com/title/tt0087553/ http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=a... http://www.mascoops.com/%E2%80%9Cthey%E2%80%9D-kil... http://tubular.net/discography/TheKillingFields.sh... http://www.filmsite.org/kill.html